การผ่าตัดลดโหนกแก้ม
โหนกแก้มเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่สำคัญของใบหน้าที่จะทำให้เรามีใบหน้าที่อ่อนโยนสวยงาม ถ้าเรามีกระดูกโหนกแก้มใหญ่เกินไปหรือสูงเกินไป ใบหน้าจะดูดุดัน น่ากลัว ดูกร้าวร้าว ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ การผ่าตัดลดโหนกแก้มหรือที่เรียกว่าการทุบหรือยุบโหนกแก้มนั้นเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงแก้ไข ขนาด และรูปทรงของโหนกแก้มให้เล็กลง ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับโครงสร้างรูปหน้าโดยรวม ทำให้ใบหน้าดูสวยงามอ่อนหวาน น่าคบหาสมาคม นอกจากนี้การยุบโหนกแก้มยังทำให้ใบหน้าดูอ่อนกว่าวัยอีกด้วย
ผู้ที่เหมาะสม ผ่าตัดลดโหนกแก้ม
- การผ่าตัดลดโหนกแก้ม จะให้ผลดีกับ คนที่มีโหนกแก้มสูงใหญ่มาก หรือ คนที่มีหน้าแบนกว้างเกินไป หรือมีโครงสร้างของใบหน้าส่วนกลางไม่สมดุล ในบางคนมีโหนกแก้มสูงและมีแก้มตอบลึกลงไป การที่ใบหน้ามีลักษณะเหล่านี้ การผ่าตัดแก้ไขปรับปรุง ขนาดและรูปทรงของโหนกแก้มจะช่วยให้ใบหน้าเรียวเล็กลง ดูอ่อนโยน มีเสน่ห์น่าชวนมอง
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถดมยาสลบได้
- มีความคาดหวังบนพื้นฐานของความเป็นจริง
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดลดโหนกแก้ม
- ตรวจสุขภาพ ร่งกาย เจาะเลือด เอ๊กซเรย์ ปอด ตรวจคลื่นหัวใจในกรณีที่อายุเกิน 40 ปีเพื่อความมั่นใจว่าไม่เป็นโรคหัวใจ ที่มีผลต่อการดมยาสลบ
- เอ๊กซเรย์ใบหน้า เพื่อวิเคราะห์โครงสร้าง และความหนา ของกระดูกหน้า
- หยุดการสูบบุหรี่ อย่างน้อย 2 อาทิตย์
- หยุดยาแก้อักเสบ วิตามิน หรือสมุนไพร ที่รับประทานเป็นประจำ หรือยาที่มีผลต่อการการหยุดของเลือด อย่างน้อย 2 อาทิตย์
- เตรียม วางแผน ช่วงการพักฟื้น
รูป ที่ 1 แสดง โครงสร้างของกระดูกโหนกแก้ม
ขั้นตอนการผ่าตัดลดโหนกแก้ม
- ดมยาสลบ
- เทคนิคการผ่าตัดยุบโหนกแก้มของโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล เป็นแบบการตัดกระดูกโหนกแก้มเป็นรูป ตัว L ซึ่งมีการผ่าตัด 2 ที่ คือ แผลใบปาก และ แผลที่เหนือหู หลังไรผม โดยเป็นแผลเล็กๆ ประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- แผลในปาก เป็นการเปิดแผลเพื่อการผ่าตัดกระดูกโหนกแก้มด้านหน้า (Zygoma body) โดยตัดกระดูกเป็นรูปตัว L
- แผลเหนือหู เป็นการผ่าตัดก้านกระดูกโหนกแก้ม (Zygoma arch) จากนั้นจะบิดกระดูกโหนกแก้มไปด้านหลัง แล้วยึดด้วยเพลท และสกรู กระดูกส่วนส่วนเกินที่ไม่เรียบ ต้องกรอด้วยหัวกรอให้เรียบ จากนั้นเย็บปิดแผลให้เรียบร้อย
รูปที่ 2 แสดงขั้นตอนของการตัดกระดูกเพื่อยุบโหนกแก้ม
ความเสี่ยง และปัญหาแทรกซ้อน
การผ่าตัดลดหรือยุบโหนกแก้ม จะมีความเสี่ยง และปัญหาแทรกซ้อน คล้ายๆ กับการผ่าตัดใหญ่ทั่วๆ ไป อาจจะเกิด การติดเชื้อ เลือดออก ลิ่มเลือด บวมช้ำ เขียว เนื้อเยื่อฉีกขาดรอบๆที่ผ่าตัด เส้นเลือด เส้นประสาทฉีกขาด การแพ้ยาดมสลบ นอกจากนี้ ยังมี
- อาการชา
- ความรู้สึกที่ผิวบริเวณโหนกแก้มหายไป
- โหนกแก้ม สองข้างอาจจะไม่เท่ากัน
- กระดูกโหนกแก้มแกว่งไปมายึดไม่แน่น
- โหนกแก้มอยู่ผิดตำแหน่ง
- อาจเกิดการผ่าตัดแก้ไขครั้งที่สองได้
การดูแลหลังผ่าตัดลดโหนกแก้ม
- การดูแลหลังผ่าตัดสำคัญมากเพื่อป้องกันการติดเชื้อให้ใช้น้ำยาบ้วนปากบ่อยๆเพื่อล้างทำความสะอาดแผลในปาก ล้างคราบเลือด
- นอนหมอนสูงช่วยลดการบวม
- ให้เคลื่อนไหวด้วยการเดินเพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือด
- ต้องใส่ผ้ารัดหน้า ตลอดเวลา 3 วัน หลังจากนั้นให้ใส่เฉพาะกลางคืนอีก 1 เดือน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหมหลังผ่าตัด 1 เดือน
- งดสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า หลังผ่าตัด 1 เดือน
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการผ่าตัด
การพักฟื้นหลังผ่าตัดลดโหนกแก้ม
- เนื่องจากมีแผล 2 ตำแหน่ง คือแผลในปาก ไม่ต้องตัดไหม ไหมจะหลุดไปเองภายใน 30 วัน
- ส่วนแผลที่อยู่เหนือหูประมาณข้างละ 1 เซนติเมตรต้องตัดไหมหลังผ่าตัด 7 วัน
- สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหลังผ่าตัด 7 วัน
- สามารถออกกำลังกายได้หลังผ่าตัดประมาณ 4 อาทิตย์
- แผลจะยุบบวมเข้าที่ประมาณ 3-6 เดือน